กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ย้ำ ผู้ผลิตโซลาร์รูฟท็อปเสรี กำลังการผลิตเกิน 1 เมกะวัตต์ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า 1 สตางค์ต่อหน่วย ระบุหากมีการเปิดเสรีเต็มรูปแบบจริง จะต้องพิจารณาปรับเกณฑ์การเก็บเงินใหม่ให้เหมาะสมและเพียงพอต่อการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ส่วนการพิจารณาอนุมัติโครงการที่ขอใช้เงินกองทุนฯประจำปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้ ภายใต้กรอบวงเงิน 3,046 ล้านบาท พร้อมทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกสู่สื่อสังคมออนไลน์และปล่อยรถคาราวาน กระตุ้นชุมชนมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์จากกองทุนฯ ให้มากขึ้น
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)เสรีที่ภาครัฐเตรียมเปิดให้เข้าร่วมโครงการในอนาคตนั้น ทางผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรีจะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าอัตรา 1 สตางค์ต่อหน่วย กรณีที่มีกำลังการผลิตเกิน 1,000 KVA (Kilo Volt Amp ) หรือเกิน 1 เมกะวัตต์ ทั้งนี้เนื่องจาก กกพ.มีระเบียบกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าและต้องมีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วย แต่ในส่วนผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ขายเข้าระบบไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ จะไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ
อย่างไรก็ตามในอนาคตหากเปิดโซลาร์รูฟท็อปแบบเสรีเต็มรูปแบบ ไม่จำกัดโควต้าการผลิต คาดว่าการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ขนาดเล็กจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะน้อยลง ทำให้มีผลกระทบต่อการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ. ซึ่ง กกพ. อาจต้องพิจารณาปรับโครงสร้างการจัดเก็บเงินใหม่เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอย่างเหมาะสมต่อไป
สำหรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯนั้นจะแบ่งตามประเภทเชื้อเพลิง ได้แก่ โรงไฟฟ้าดีเซลหรือน้ำมันเตา ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ 1.5 สตางค์ต่อหน่วย,โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 1 สตางค์ต่อหน่วย, โรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 สตางค์ต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 1 สตางค์ต่อหน่วย เป็นต้น
นอกจากนี้ปัจจุบัน กกพ. อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งเสนอเข้ามา เพื่อขอใช้เงินจากกองทุนฯประจำปี 2561 ภายใต้กรอบวงเงินรวม 3,046 ล้านบาท ทาง กกพ. คาดว่าจะพิจารณาอนุมัติโครงการต่างๆ ได้เสร็จภายในเดือน พ.ย. 2560 นี้
นายพรเทพ กล่าวด้วยว่า กกพ. ได้ปฏิรูปการประชาสัมพันธ์กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นแบบ 360 องศา โดยทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกทั้งสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ล่าสุดได้จัด “โครงการประชาสัมพันธ์กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในรูปแบบคาราวาน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า อาสาพาเจริญ” ซึ่งจะจัดรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ไปยังชุมชนรอบโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและกระตุ้นการมีส่วนรวมของชุมชนต่อการใช้ประโยชน์จากเงินกองทุนฯ อย่างเหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า บางโครงการไม่ประสบผลสำเร็จเพราะชาวบ้านไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมคิดโครงการ ซึ่ง กกพ. มีเป้าหมายให้ชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้ 100% ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนและโรงไฟฟ้าอยู่ร่วมกันได้อย่างมั่นคง